จะเลือกโปรแกรมภาคฤดูร้อนให้แก่บุตรหลานของท่านอย่างไรดี

ใกล้จะถึงเวลาปิดเทอมภาคฤดูร้อนอีกแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านก็อาจจะกำลังกังวลอยู่กับการหาค่ายฤดูร้อนให้แก่บุตรหลาน ปีที่แล้วส่งไปเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ ปีนี้ควรจะส่งไปเข้าค่ายศิลปะดีหรือไม่ ปีที่แล้วส่งไปเรียนที่ประเทศสิงคโปร์ ปีนี้จะส่งไปเข้าค่ายที่ประเทศอังกฤษดีหรือไม่ เป็นคำถามที่ไม่มีที่สิ้นสุดในการเลือกหาค่ายฤดูร้อน

ก่อนอื่นควรจะถามตัวท่านเองก่อนว่า ทำไมถึงจะต้องให้บุตรหลานเข้าค่าย ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนรู้อะไรจากค่ายนั้น ๆ เช่น วิชาการ การเข้าสังคม การพัฒนาทางจิตใจ หรือ การพัฒนาทางด้านอารมณ์ เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การวางเป้าหมายและแผนการในการศึกษาให้แก่บุตรหลานแต่ละคน และทำให้บรรลุตามแผนที่วางไว้ คำถามต่อไป คือ จะทำอย่างไรให้บุตรหลานเติบโตอย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งทางด้านสติปัญญา ทางด้านอารมณ์ ทางด้านเหตุผล ทางด้านจิตใจ ทางด้านสังคม และทางด้านศีลธรรม รวมทั้ง ตั้งคำถามว่าลักษณะของค่ายแบบไหนถึงจะเหมาะแก่การพัฒนาบุตรหลานของตน

มีโปรแกรมในช่วงปิดภาคการศึกษาอะไรบ้าง

โปรแกรมภาคฤดูร้อนในต่างประเทศ

  • โปรแกรมแบบกลุ่ม มีในประเทศต่าง ๆ ดังนี้ คือ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ อเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป ได้แก่ เยอรมัน ฝรั่งเศส (สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนภาษา) เป็นกลุ่มที่มีขนาดปานกลาง คือ นักเรียน 15 คนต่อกลุ่ม ใช้เวลาเรียนภาษาครึ่งวัน และอีกครึ่งวันทัศนศึกษา โดยที่แต่ละกลุ่มจะแบ่งแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ทำให้การเข้าค่ายแบบกลุ่มนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับผู้ที่เข้าร่วมเป็นครั้งแรก โปรแกรมนี้จะช่วยให้เด็กที่ขาดความมั่นใจ และไม่เคยใช้ชีวิตไกลบ้านได้รับความมั่นใจ ซึ่งการใช้ชีวิตในต่างแดนกับคนที่ไม่รู้จักอาจเป็นสิ่งที่น่ากลัว และหากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ก็อาจจะส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อไปในระยะยาวได้ ดังนั้น การเข้าค่ายฤดูร้อนแบบกลุ่ม จึงเหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้ปกครองไม่ควรที่จะคาดหวังการพัฒนาทางภาษาที่มากนัก แต่ควรคาดหวังว่าเด็กจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไปจากเดิม รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์และการปรับตัวให้เข้ากับสังคมในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ ตัวเด็กเองก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านบุคคลิกภาพ เช่น จากเด็กเก็บตัว เป็นเด็กที่กล้าแสดงออกมากขึ้น จากเด็กที่มีแง่คิดในทางลบ เป็นเด็กที่มีแง่คิดในทางบวก จากเด็กที่มีความเห็นแก่ตัวเอง เป็นเด็กที่มีน้ำใจมากขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในทางที่ไม่ดีก็อาจเกิดขึ้นด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย และการพูดภาษาที่ไม่สุภาพตามเพื่อน
  • โปรแกรมแบบตัวต่อตัว สามารถเลือกได้จากทุกหลักสูตรภาษา เป็นโปรแกรมที่มีระยะเวลาเรียนที่ยืดหยุ่น ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ ไปจนถึง 40 สัปดาห์ โดยเลือกได้ทั้งแบบเต็มเวลา (25-30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และไม่เต็มเวลา (15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีกิจกรรมพิเศษและการทัศนศึกษารวมให้อยู่ในโปรแกรม อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้งหรือเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมภาษาอังกฤษสำหรับผู้ที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะ คือ ผู้ที่ต้องการเรียนวิชาอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ได้แก่โปรแกรม
  • ภาษาอังกฤษสำหรับมัธยมศึกษา เป็นโปรแกรมสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา มีวิชาที่สอน คือ คณิตศาสตร์ รวมถึงทักษะการเรียนในระดับนี้
  • ภาษาอังกฤษสำหรับศิลปะและการออกแบบ เป็นโปรแกรมสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ถึงหลักการและวิธีการใช้ศิลปะและการออกแบบ
  • ภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ เป็นโปรแกรมสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาภาษาทางด้านไอที รวมถึงเพิ่มพูนความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์
  • ภาษาอังกฤษและการจัดการ เป็นโปรแกรมสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการจัดการ

การเข้าค่ายแบบตัวต่อตัวนี้มีข้อดีมากมาย เนื่องจากเด็กต้องเรียนร่วมกับเด็กที่มาจากต่างชาติต่างภาษา ส่งผลให้เด็กต้องใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้การพัฒนาภาษาเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าการเข้าค่ายแบบกลุ่ม ก่อให้เกิดมิตรภาพในระหว่างเด็ก ๆ ด้วยกันอย่างเป็นธรรมชาติภายใต้การใช้ชีวิตร่วมกัน ก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองและความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม โปรแกรมนี้เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป รวมทั้ง ผู้ปกครองควรตระหนักด้วยว่า การเข้าค่ายแบบตัวต่อตัวนี้ จะแตกต่างจากการเข้าค่ายแบบกลุ่ม คือ จะมีการเรียนการสอนที่เข้มข้นกว่า จึงไม่เหมาะแก่เด็กที่ต้องการไปเที่ยวพักผ่อนในต่างแดน

ไทย   l    Eng

ข้อแนะนำในการเลือกโปรแกรมเข้าค่ายฤดูร้อนที่เหมาะสมให้กับบุตรหลาน

  1. มีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าทำไมถึงต้องการส่งบุตรหลานเข้าค่าย
  2. จัดลำดับความสำคัญ ถ้าวางมาตรฐานว่าต้องการให้บุตรหลานเติบโตอย่างเต็มภาคภูมิ ก็ต้องจัดลำดับว่าทักษะด้านไหนของบุตรหลานที่ต้องการพัฒนามากที่สุด แล้วจึงเลือกโปรแกรมที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาทักษะในด้านนั้น
  3. ถามบุตรหลานท่านว่ามีความสนใจที่จะเข้าค่ายหรือไม่ เด็ก ๆ ไม่ควรที่จะถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่เขาไม่มีความต้องการ การศึกษาหาความรู้ควรเป็นสิ่งที่สนุกสนาน เด็กแต่ละคนก็แตกต่างกัน จึงมีความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันด้วย การรู้และเข้าใจว่าบุตรหลานของท่านเรียนรู้อย่างไรเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการประสบความสำเร็จของการพัฒนาในเด็กแต่ละคน
  4. ศึกษาแต่ละโปรแกรมด้วยความรอบคอบ โดยในแต่ละโปรแกรมจะประกอบด้วยข้อมูล ดังต่อไปนี้
  • จุดหมายปลายทาง ประเทศอะไร เมืองไหน (เมืองที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่ เมืองที่มีความทันสมัยหรือไม่ เมืองแห่งวัฒนธรรมหรือไม่ อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลานของท่าน)
  • ระยะเวลา ใช้ระยะเวลานานเท่าใด (ควรจะเป็น 1 สัปดาห์ 2 สัปดาห์ หรือ 6 สัปดาห์)
  • คุณภาพของสถาบัน ควรเลือกสถาบันที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ
  • โครงสร้างของโปรแกรม ใช้เวลากี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับการพูดคุยแบบตัวต่อตัว ประเภทของกิจกรรมพิเศษนอกห้องเรียนและการทัศนศึกษาที่รวมอยู่ในโปรแกรม รวมถึงประโยชน์ของกิจกรรมนั้น ๆ ที่มีต่อบุตรหลาน
  • ราคา มีราคาที่แพงหรือถูกเกินไปหรือไม่ ถ้ามีราคาที่ถูกมาก จะมีค่าใช้จ่ายพิเศษอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาทีหลังอีกหรือไม่

เมื่อสามารถเลือกโปรแกรมได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญ คือ การเตรียมตัวบุตรหลานของท่านให้มีความพร้อมต่อการเดินทาง เพราะว่าการใช้ชีวิตในวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยจำเป็นต้องใช้การปรับตัวอย่างมาก หลักสำคัญของการประสบความสำเร็จในการเข้าค่ายฤดูร้อนในต่างแดน คือ ต้องมีทัศนคติที่เหมาะสม มีความเข้าใจที่ถูกต้อง วางตัวให้เหมาะสม และ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี

วิภา ภิญโญโชติวงศ์

SummerUK_Website-02 SummerUS_Website-03

SummerAUS_Website-04

SummerCAN_Website-05