มาวางโครงสร้างการเขียนกันก่อนดีกว่า

ก่อนที่จะเริ่มทำอะไรซักอย่าง การวางแผนถือเป็นสิ่งที่สำคัญและมองข้ามไม่ได้ครับ  อย่างเช่นถ้าเราจะเดินทางไปที่ไหนซักที่ ก็ต้องวางแผนก่อนครับว่า จะใช้เส้นทางไหน จะออกเวลาเท่าไหร่ จะได้ไปถึงจุดหมายได้เร็วและประหยัดที่สุด (นึกภาพออกมั้ยครับ)

การเขียนก็เช่นกัน เมื่อเราได้รับโจทย์มาแล้วนั้น สิ่งที่ควรจะทำเป็นอย่างแรกหลังจากที่อ่านโจทย์แล้วก็คือ วางโครงสร้างการเขียนของเราครับโดยโครงสร้างการเขียนที่เป็นลักษณะเชิงวิชาการหรือ Academic Writing นั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆครับ ได้แก่

  1. ส่วนของ Introduction หรือ การเกริ่นนำ โดยจะเป็นการ เกริ่นนำผู้อ่านให้เกิด idea หรือ ความคิด คร่าวๆก่อนครับว่าสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงนั้น เกี่ยวกับอะไร เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังจะสื่อได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้าคำถามถามว่า คุณเห็นด้วยมั้ยที่คอมพิวเตอร์จะถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอนแทนอาจารย์ในอนาคต? เราก็อาจจะให้แนวความคิดคร่าวๆเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในส่วนแรกก่อนครับว่า คอมพิวเตอร์นั้น….(อะไรก็ว่าไปเช่น มีประโยชน์มาก, มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในยุคหลังๆ เป็นต้น) และลงท้ายเราอาจจะบอกสั้นๆ ก็ได้ครับว่า เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวในโจทย์ข้างต้น (ย้ำว่าแค่สั้นๆนะครับ เพราะเราจะไปลงรายละเอียดใน ส่วนที่ 2 แทน) ประโยคที่มีประโยชน์และนำมาใช้ได้ในส่วน Introduction นี้ก็เช่น It is well-known that (เป็นที่รู้กันดีว่า)
  2. ส่วนของ ใจความ หรือ Body เมื่อเราบอกกับผู้อ่านคร่าวๆแล้วว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวในโจทย์ข้างต้น ในส่วนที่ 2 นี้จะเป็นส่วนขยายที่เราจะนำมาใช้ในการอธิบายถึงเหตุผลที่เราสนับสนุนหรือขัดแย้งความคิดเห็นนั้นๆครับ และเพื่อให้เป็นการอ่านง่ายและตามลำดับ เราอาจเลือกที่จะอธิบายเป็ยข้อๆ โดยใช้คำว่า Firstly, Secondly, Thirdly หรือ Lastly นำหน้าเพื่อเป็นการบอกลำดับก็ได้ครับ นอกจากนี้ ในขณะที่กำลังอธิบายถึงเหตุผลที่นำมาสนับสนุนแนวคิดของเรานั้น ผู้เขียนก็อยากจะแนะนำให้นักเรียนยกตัวอย่างประกอบเหตุผลนั้นๆ ถ้าเพื่อจะเป็นการที่จะทำให้ผู้ตรวจหรือผู้อ่านมองเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายก็จะเป็นการดีครับ คำศัพท์ที่อาจจะนำมาใช้ในการยกตัวอย่างก็เช่น For example, For instance หรือ such as เป็นต้นครับ
  3. ส่วนสรุป หรือ Conclusion ปิดท้าย เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตอนสุดท้าย ในส่วนของแนวเขียนเชิงวิชาการ (Academic Writing) นั้นจำเป็นอย่างยิ่งครับ ที่จะต้องมีส่วนปิดท้ายที่เรียกว่าส่วนสรุป อาจจะเพราะตัวเนื้อหาที่ค่อนข้างมาก จึงทำให้ส่วนสรุปนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะสรุปประเด็นให้กับผู้อ่านเกี่ยวกับแนวความคิดของเราอีกทีนึงครับ เนื้อหาในส่วนสรุปนี้จะว่าไปก็จะคล้ายๆกับส่วนของ Introduction เพียงแต่เรานำมาเรียบเรียงโดยใช้คำพูดใหม่ๆ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า paraphrase นั่นเองครับ  ประโยคที่มีประโยชน์และนำมาใช้ได้ในส่วนสรุปนี้ก็เช่น In conclusion, As a result, It can be said that (มันสามารถบอกได้ว่า) เป็นต้น