Listening Trick Part # 3
อันว่าด้วยข้อสอบ Listening นั้น จะมีใครมาบังคับก็หาไม่ สมัครสอบกันเองด้วยความตั้งใจ กฏและระเบียบกำหนดออกมาอย่างไรก็ต้องว่ากันไปตามอย่างนั้น และด้วยกฏข้อหนึ่งของการ สอบ ซึ่งนั่นคือ “นักเรียนสามารถฟังเทปได้เพียงแค่รอบเดียว” เท่านั้น ก่อให้เกิดปัญหาตามมา ซึ่งนั่นก็คือการอาการ “หลุด”
เพราะลองคิดดูว่า ถ้าเราตั้งใจฟังเทปพูดอยู่ดีๆ เอาแบบรู้เรื่องด้วยนะ และก็กำลังรออยู่ว่า เอ…เมื่อไหร่คำตอบของข้อที่เรากำลังจ้องอยู่นั้น มันจะมาซักที จดๆจ้องๆอยู่พักใหญ่ อยู่ๆบทสนทนาก็จบไปซะงั้น…..เฮ้ย!!!…แล้วที่เหลือละ??
ครับ!!… และนั่นก็คือที่มาของอาการ “หลุด” ที่ว่า
คือ เหมือนกับว่าเราพยายามจะหาคำตอบของข้อนั้นๆ อย่างตั้งใจ แต่ปรากฏว่า คำตอบของข้อนั้น อาจจะผ่านไปอย่างไม่รู้ตัว จนทำให้เราไม่ได้ไปสนใจทำข้ออื่นๆไปด้วย แบบนี้เรียกว่าแทนที่จะเสียคะแนนแค่ข้อเดียว กับทำให้ต้องรวนไปทั้งชุด
และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการ “หลุด” ที่ว่า ผู้เขียนก็อยากจะแนะนำให้น้องๆนักเรียน อ่านคำถามล่วงหน้า เอาไว้อย่างละหนึ่งข้อเสมอ เช่น…
ถ้ากำลังทำข้อ 1 อยู่นั้น ก็ให้อ่านคำถามข้อ 2 ล่วงหน้าไปด้วย หรือ ถ้ากำลังทำข้อ 7 อยู่นั้น ก็ให้อ่านคำถามข้อ 8 ล่วงหน้าไปด้วย ทั้งนี้ก็เป็นเพื่อป้องกัน เผื่อว่าถ้าเราได้ยินคำตอบของข้อ 2 หรือข้อถัดไปขึ้นมาเมื่อไหร่นั้น ก็แสดงว่า เราได้ฟังข้ามข้อ 1 หรือ ข้อแรกที่เราจ้องอยู่ไปแล้วนั่นเอง
วิธีนี้จะทำให้เรา ยอมเสียดินแดนส่วนน้อยเพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่ หรือ ยอมพลาดแค่ข้อเดียว เพื่อไม่ให้ไปกระทบกับข้ออื่นๆที่จะตามมายังไงละครับ เพราะจากประสบการณ์จริงนั้น มีนักเรียนหลายๆคน ที่ฟังหลุดไปข้อเดียว ทำให้ไม่ได้ฟังในอีกหลายๆข้อต่อมา เพราะมัวแต่ไปตั้งใจจะหาคำตอบข้อนั้นๆให้ได้ อย่าลืมนะครับ!! ว่าข้อสอบ Listening ฟังได้แค่ครั้งเดียว พลาดแล้วพลาดเลย เสียอะไรเล็กๆน้อยๆไปได้ ก็ปล่อยๆมันไปก่อน อย่า “รวน” หรือ ”ลน” จนทำให้ กระทบกับข้ออื่นๆเชียว
นอกจากนี้ ในระหว่างการฟังนั้น ผู้สอบจะเขียน จะทด หรือแม้แต่กระทั่ง วาดรูปเล่น (ซึ่งคนไม่มีใครที่ไหนเค้าทำกัน) ก็ได้นะครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนแนะนำให้ใช้ “ดินสอ” เนื่องจาก “ลบง่าย” เวลาเขียนผิดนั่นเอง
ส่วนเรื่องของการสะกด นั้น จะเขียนถูกผิดสะกดอย่างไรก็ได้คะแนนครับ ตราบใดที่คำที่เขียนนั้นอ่านแล้วออกเสียงได้เป็นคำนั้นๆจริงๆ เช่น คำว่า Night อาจจะเขียนเป็น Nite ก็ได้ครับ ^^นี่คือข้อดี (หรืออะลุ่มอะล่วย) ของข้อสอบ IELTS เพราะทางเจ้าหน้าที่เค้าบอกว่า “นี่คือการสอบฟังไม่ใช่การสอบเขียน” ครับ