วอร์มอัพด้วยเส้นกราฟ

อย่างที่เคยเกริ่นเอาไว้ในครั้งที่แล้วครับว่า ข้อสอบส่วนแรกสำหรับทักษะการเขียนนั้นจะเป็นการเขียนบรรยายกราฟต่างๆ ซึ่งไม่ต้องใช้เวลานานมากนัก เพราะไม่ต้องมีการวิเคราะห์ รวมไปถึงจำนวนคำที่ใช้ก็ถูกกำหนดอยู่เพียงแค่ 150 คำ หรือ ไม่เกิน 2 ย่อหน้าเท่านั้น

ซึ่งเราสามารถแบ่งเวลาในการทำข้อสอบสำหรับส่วนนี้ไว้เพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้นก็เพียงพอ เคล็ดลับในการเตรียมตัวรับมือกับข้อสอบส่วนนี้นั้นค่อนข้างที่จะง่าย เนื่องจากด้วยความที่เป็น “กราฟ” ทำให้ความหลากหลายในการออกข้อสอบถูกจำกัดลงอยู่เพียงแค่ รูปแบบเพียงแค่ไม่กี่ชนิด หรือ จะกล่าวอีกในแง่นึงก็คือ กราฟที่นำมาออกข้อสอบนั้นจะไม่นอกเหนือไปกว่าประเภท วงกลม, แท่ง, แผนภูมิ, เส้น และ ตาราง

ซึ่งแน่นอนว่าเราสามารถ “ฝึก” วิธีการดูรูปแบบของกราฟต่างๆได้ล่วงหน้า รวมไปถึงการเตรียมคำ (Words) ประโยค (Sentences) ที่จะนำมาใช้กับกราฟรูปแบบต่างๆ เช่น กราฟวงกลม ที่มักจะกล่าวถึงการแบ่งจำนวนของสิ่งๆหนึ่งออกเป็นจำนวนและเปอร์เซ็นต์ต่างๆ ดังนั้น คำและประโยคต่าง ที่เราน่าจะได้ใช้แน่ๆ ก็น่าจะหนีไม่พ้น percent, segment, share, majority และอื่นๆ หรือ ประโยคอย่างเช่น The chart below shows, the main number were, A had shared the percentage of. เป็นต้น

กราฟเส้น ที่มักจะแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของจำนวนหรือตัวเลขเชิงเปรียบเทียบให้เห็นเป็นแนวโน้มของการขึ้นลง ในช่วงระยะเลาต่างๆ ดังนั้น คำและประโยคต่าง ที่เราจะได้ใช้แน่ๆก็น่าจะเป็น increase, decrease, sore, rose, dramatically, sharply และอื่นๆเป็นต้น หรือ ในประโยคอย่างเช่น by…(ปี), the sale (อาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นขึ้นอยู่กับเรื่องที่กราฟนำเสนอ) increased (เพิ่ม, ลด หรือเท่าเดิม) dramatically (เป็น adverb ช่วยบอกระดับการเปลี่ยนแปลงว่ามาก น้อยเพียงใด) เป็นต้น

นักเรียนหลายๆคนเมื่อเห็นข้อสอบการเขียนในส่วนแรก ส่วนมากมักจะพบว่า ข้อมูลที่ให้มานั้นมีมากมายเกินกว่าที่จะเขียนให้อยู่ในจำนวนคำแค่ 150 ดังนั้นทางผู้เข้าสอบจึงควรที่จะหยิบยกแต่ประเด็นหรือส่วนสำคัญๆของกราฟเท่านั้นมาใช้ หรืออีกคำพูดหนึ่งก็คือ ผู้สอบจะต้องดูให้เป็นว่า กราฟตัวนี้ที่ได้มานั้น เราควรที่จะนำเสนอในรูปแบบไหน ให้ตรงกับความต้องการของผู้อ่านที่สุด  ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการวิเคราะห์ เพียงแต่เป็นการ “เลือก” ข้อมูลที่จะนำมาเสนอ ให้อยุ่ในจำนวนจำกัด 150 คำเท่านั้นเอง

สุดท้าย เป็นส่วนที่นักเรียนหรือแม้กระทั่งตัวผู้เขียนเองเมื่อก่อน มักจะลืมก็คือ การเปลี่ยนกาล (Tense) ในข้อสอบ เนื่องจากกราฟต่างๆนั้นมักจะนำเสนอข้อมูลที่ได้เก็บไว้ในหลายๆปี นำมาเปรียบเทียบ ดังนั้น กาล (Tense) ที่นำมาใช้ จึงต้องเป็น past tense เสมอ ขอให้อย่าลืมตรงนี้นะครับ

ตอนหน้าเราจะลองไปดูข้อสอบการเขียนในส่วนหลัง ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดกันครับ